ปฏิทินกิจกรรมของฉัน

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

มันสำปะหลัง



มันสำปะหลัง

(ชื่อวิทยาศาสตร์ : Manihot esculenta (L.) Crantz) เป็นพืชหัวชนิดหนึ่ง เป็นพืชอาหารที่สำคัญอันดับ 5 รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่ง [1] ชื่อสามัญเรียกหลายชื่อเช่น Cassava, Yuca, Mandioa, Manioc, Tapioca ชาวไทยเดิมเรียกกันว่า มันสำโรง มันไม้ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือเรียกว่า มันต้นเตี้ย ภาคใต้เรียกมันเทศ (แต่เรียกมันเทศว่า "มันหลา") คำว่า "สำปะหลัง" ที่นิยมเรียกอาจมาจากคำว่า "ซำเปอ (Sampou)" ของชวาตะวันตก

มันสำปะหลังมีแหล่งกำเนิดแถบที่ลุ่มเขตร้อน (Lowland tropics) มีหลักฐานแสดงว่าปลูกกันในโคลัมเบีย และเวเนซูเอลา มานานกว่า 3,000-7,000 ปีมาแล้ว


ชนิดและสายพันธุ์
มันสัมปะหลังที่ปลูกเชิงเกษตรกรรม มีสองชนิด คือ

ชนิดหวาน มีปริมาณกรดไฮโดรไซยานิคต่ำ ไม่มีรสขมและสามารถใช้ทำอาหารได้โดยตรง เช่น พันธุ์ห้านาที,พันธุ์ระยอง 2
ชนิดขม มีปริมาณกรดโอโดรไซยานิคสูง ต้องนำไปแปรรูปก่อน เช่น พันธุ์ระยอง 1, 3, 5, 60, 90 พันธุ์เกษตรศาสตร์ 50 และ พันธุ์ห้วยบง 60
การจำแนกสายพันธุ์ใช้คุณลักษณะหลายอย่างช่วยในการจำแนกเช่น สีของใบอ่อน สีก้านใบ สีลำต้น ขนที่ยอดอ่อน ลักษณะทรงต้น หูใบ

เกษตรกรรม
มันสำปะหลังนำมาปลูกเชิงเกษตรกรรมให้ผลผลิตเฉลี่ย 4 – 5 ตันแต่เมื่อดูแลอย่างดีอาจได้ถึง 12 ต่อไร่ ซึ่งผลผลิตจะถูกนำมาแปรรูป ในรูปแบบ แป้งมันสำปะหลัง และ มันสำปะหลังเส้น เพื่อเป็นวัตถุดิบส่งโรงงานต่อไป

พันธู์มันสำปะหลังแต่ละพันธุ์มีความเหมาะสมเฉพาะพื้นที่ การใช้พันธุ์ที่เหมาะสมสามารถยกระดับผลผลิตได้

อ้อย


อ้อย หรือ อ้อยแดง (อังกฤษ:Sugar-cane, ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum officinarum Linn. GRAMINEAE ) ชื่ออื่นคือ อ้อยขม หรืออ้อยดำ เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ลำต้นสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 0.5-1 เมตร ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาว ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก

สายพันธุ์
อ้อยมีหลายพันธุ์แตกต่างกันที่ความสูง ความยาวของข้อและสีของลำต้น อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก อ้อยที่นำมาคั้นน้ำสำหรับดื่ม เป็นอ้อยที่ปลูกบริเวณที่ราบลุ่ม พื้นที่ดินเหนียว ประชาชนเรียกว่า อ้อยเหลือง หรือ อ้อยสิงคโปร์ นิยมปลูกกันมากในบริเวณจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม เป็นต้น

พ.ศ. 2550 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี) กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยขึ้นมาใหม่ คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 80 ซึ่งได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์แม่ 85-2-352 กับพันธุ์พ่อ K84-200 ใช้ระยะเวลาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 11 ปี มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตในอ้อยปลูกน้ำหนักเฉลี่ย 17.79 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.66 ตันซีซีเอส/ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำได้ระดับปานกลางด้วย [1]

สรรพคุณสมุนไพร
ตำรายาไทยใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำ แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองในและขับนิ่ว แพทย์พื้นบ้านใช้ขับเสมหะ รายงานว่าอ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสัตว์ทดลอง

สถานการณ์ทั่วไป
การผลิตอ้อยในปีการผลิต 2540/2541 คาดว่าจะได้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ ประมาณ 44.56 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิต 2539/2540 ที่ผลิตได้ 56.19 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 20.70 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกอ้อยลดลงเนื่องจากประสบภัยแล้งเป็นเวลานาน ตลอดจนปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะหนอนกออ้อย ถึงแม้ว่าราคารับซื้ออ้อย ณ หน้าโรงงานจะเพิ่มขึ้นจากตันละ 547 บาท ในปี 2539/40 เป็นตันละ 600 บาท ในปีการผลิต 2540/2541 (ราคาอ้อยขั้นต้น) แต่เกษตรกรก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยส่งโรงงานได้
การผลิตน้ำตาลทรายก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดยในปี 2539/2540 ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้ถึง 5.79 ล้านตัน และคาดว่าปี 2540/2541 ผลิตได้ 4.19 ล้านตัน หรือ ลดลงร้อยละ 27.63 ทั้งนี้นอกจากปริมาณอ้อยที่น้อยลงแล้ว ยังเนื่องจากคุณภาพของอ้อย ต่ำลง และมีสิ่งเจือปนมาก ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำลง และโรงงานต้องสูญเสียพลังงานมากขึ้นในการผลิตน้ำตาลที่ได้จากอ้อยไฟไหม้ ในปัจจุบันจึงเน้นการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว



แหล่งผลิต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และแพร่

ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และ สระแก้ว

ภาคที่ปลูกอ้อยมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ฤดูปลูก
ช่วงปลูกอ้อยที่เหมาะสมจะแบ่งตามเขตพื้นที่ที่ใช้ปลูกอ้อย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 เขตคือ
1. เขตชลประทาน จะปลูกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม
2. เขตน้ำฝน สามารถปลูกได้ 2 ช่วง คือ
ต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน นิยมปลูกในพื้นที่ทั่วไป
ปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม นิยมปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือบางพื้นที่

ข้าวโพดหวานพืชเศรษฐกิจของไทย


ลักษณะทางพฤษศาสตร์

ลักษณะของข้าวโพดข้าวโพดเป็นพืชจำพวกหญ้า มีลำต้นตั้งตรงแข็งแรง เนื้อภายในฟ่ามคล้ายฟองน้ำสูงประมาณ 1.4 เมตร ใบ จะเป็นเส้นตรงปลายแหลม ยาวประมาณ 30-100 ซม. เส้นกลางของใบจะเห็นได้ชัด ตรงขอบใบมีขนอ่อนๆ ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ช่อดอกตัวผู้อยู่ส่วนยอดของลำต้น ช่อดอกตัวเมียอยู่ต่ำลงมาอยู่ระหว่างกาบของใบ และลำต้นฝักเกิดจากดอกตัวเมียที่เจริญเติบโตแล้ว ฝักอ่อนจะมีสีเขียว พอแก่เป็นสีนวล

ถิ่นกำเนิด

ได้มีการขุดพบซังข้าวโพดและซากของต้นข้าวโพดที่ใกล้แม่น้ำในนิวเม็กซิโก (แถบอเมริกาใต้) และปัจจุบันนิยมปลูกแพร่หลายในแถบอเมริกา แคนาดา สามารถปลูกได้ในสภาพที่ภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ๆ เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์ เพราะสามารถนำมาเลี้ยงสัตว์ได้ทั้งต้น ใบ และเมล็ด

การนำเข้ามาในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย คนไทยรู้จักนำข้าวโพดมาเลี้ยงสัตว์ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดย หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้นำข้าวโพดพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์มาปลูกและทดลองใช้เลี้ยงสัตว์ ซึ่งในขณะนั้นเป็นยังเป็นที่รู้จักกันน้อย จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การใช้ข้าวโพดเริ่มแพร่หลายขึ้นเนื่องจาก หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำการเลี้ยงไก่แบบการค้ามาเริ่มสาธิต และกระตุ้นให้ประชาชนปฏิบัติตามผู้เลี้ยงไก่จึงรู้จักใช้ข้าวโพดมากขึ้นกว่าเดิม แต่เนื่องจากระยะนั้นข้าวโพดมีราคาสูงและหายาก การใช้ข้าวโพดจึงใช้เป็นเพียงส่วนประกอบของอาหารหลัก ซึ่งมีรำและปลายข้าวเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันผู้เลี้ยงสัตว์รู้จักข้าวโพดกันทั่วไป และในปัจจุบันประเทศไทยได้ปลูกข้าวโพดในปีหนึ่ง ๆ เป็นจำนวนมาก


ข้าวโพดหวานพืชเศรษฐกิจปลูกง่ายราคาดี

ในพื้นที่บางส่วนของ ต.นครสวรรค์ออก และ ต.กลางแดด อ.เมืองนครสวรรค์ เกษตรกรจะใช้พื้นที่ไปเพื่อการปลูกข้าวโพดหวาน การปลูกข้าวโพดหวานจะต้องเตรียมเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับแรก พันธุ์ข้าวโพดหวาน ที่ใช้ปลูกควรเป็นข้าวโพดหวานลูกผสม แต่พันธุ์ที่แนะนำคือพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสม ไฮ-บริกซ์ 5 และ ไฮ-บริกซ์ 3 ทั้งสองพันธุ์เป็นพันธุ์ข้าวโพดหวานลูกผสมที่ผลิตโดย บริษัท แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ จำกัด ซึ่งสามารถให้ผลผลิตสูง มีขนาดฝักใหญ่เป็นที่ต้องการของตลาด คุณภาพฝักสดดีมาก รสชาติดี กลิ่นหอม นอกจากนี้ยังสามารถปลูกได้ในทุกสภาพแวดล้อมในประเทศไทย เพราะเป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นโดยใช้เชื้อพันธุกรรมที่มีในประเทศ ทำให้สามารถปรับตัวได้อย่างกว้างขวาง

การเตรียมดิน การเตรียมดินถือเป็นหัวใจของการปลูกข้าวโพดหวานให้ได้ผลผลิตสูง เพราะถ้าดินมีสภาพดีเหมาะกับการงอกของเมล็ดจะทำให้มีจำนวนต้นต่อไร่สูง ผลผลิตต่อไร่ก็จะสูงตามไปด้วยการเตรียมดินที่ดีควรมีการไถดะและทิ้งตากดินไว้ 3-5 วัน จากนั้นจึงไถแปรเพื่อย่อยดินให้ แตกละเอียดไม่เป็นก้อนใหญ่เหมาะกับการงอกของเมล็ด ควรมีการหว่านปุ๋ยคอกเช่นปุ๋ยขี้ไก่เป็นต้น อัตราประมาณ 1 ตันต่อไร่ก่อนการไถแปร เพื่อเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ดีขึ้นสามารถอุ้มน้ำได้นานขึ้น และยังเป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้กับข้าวโพดหวาน

การปลูก ควรปลูกเป็นแถวเป็นแนว ปลูกแบบแถวเดี่ยวระหว่างแถว 75 เซนติเมตร ระหว่างต้น 25-30 เซนติเมตร ปลูกหลุมละ 1 ต้น จำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 7,000-8,500 ต้น จะใช้เมล็ดประมาณ 1-1.5 กิโลกรัมต่อไร่
การใส่ปุ๋ย เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการปลูกข้าวโพดหวาน เพราะปัจจุบันพื้นที่การเกษตรเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกพืชติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง จึงควรใส่ธาตุอาหารพืช ( ปุ๋ย ) เพิ่มเติมลงในดิน การใส่ปุ๋ยในข้าวโพดหวานมีขั้นตอนดังนี้

การใส่ปุ๋ยรองพื้น สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือ 15-15-15 อัตรา 50 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่พร้อมปลูกหรือใส่ขณะเตรียมดิน พร้อมการใช้ปุ๋ยคอก เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน

ถ้าปลูกด้วยมือ ควรหยอดปุ๋ยที่ก้นหลุมแล้วกลบดินบาง ๆ ก่อนหยอดเมล็ด ไม่ควรให้ปุ๋ยสัมผัสกับเมล็ดโดยตรงเพราะอาจทำให้เมล็ดเน่าได้
การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 1 สูตรปุ๋ยที่แนะนำคือ 46-0-0 ( ยูเรีย ) อัตรา 25-30 กิโลกรัมต่อไร่ ใส่เมื่อข้าวโพดมีอายุ 20-25 วันหลังปลูก โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม หรือพูนโคนกลบปุ๋ยก็จะเป็นการกำจัดวัชพืชไปในตัว

การใส่ปุ๋ยแต่งหน้าครั้งที่ 2 เมื่อข้าวโพดมีอายุ 40-45 วันหลังปลูก ถ้าแสดงอาการเหลืองหรือไม่ สมบูรณ์ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรีย ( 46-0-0 ) อัตรา 25 กิโลกรัมต่อไร่ โรยข้างต้นในขณะดินมีความชื้นหรือให้น้ำตาม

การกำจัดวัชพืช ถ้าแปลงปลูกข้าวโพดหวานมีวัชพืชขึ้นมากจะทำให้ข้าวโพดไม่สมบูรณ์ ผลผลิตจะลดลง จึงควรมีการกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก วิธีการกำจัดวัชพืชสามารถทำได้ด้วยการ การฉีดยาคุมวัชพืช ใช้อลาคลอร์ ฉีดพ่นลงดินหลังจากปลูกก่อนที่วัชพืชจะงอกขณะฉีดพ่นดินควรมีความชื้นเพื่อทำให้ยามีประสิทธิภาพดีขึ้น ใช้วิธีการเขตกรรม ถ้าหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรได้รับคำแนะนำจากนักวิชาการที่เกี่ยวข้อง หรือเจ้าหน้าที่โรงงานผู้ส่งเสริมการปลูก

การให้น้ำ ระยะที่ข้าวโพดหวานขาดน้ำไม่ได้คือระยะ 7 วันแรกหลังปลูก เป็นระยะที่ข้าวโพดกำลังงอก ถ้าข้าวโพดหวานขาดน้ำช่วงนี้จะทำให้การงอกไม่ดี จำนวนต้นต่อพื้นที่ก็จะน้อยลงจะทำให้ผลผลิตลดลงไปด้วย ระยะที่ขาดน้ำไม่ได้อีกช่วงหนึ่งคือระยะออกดอก การขาดน้ำในช่วงนี้จะมีผลทำให้การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดี ติดเมล็ดไม่เต็มถึงปลายหรือติดเมล็ดเป็นบางส่วน ซึ่งฝักที่ได้จะขายได้ราคาต่ำ โดยปกติถ้าเป็นพื้นที่ที่สามารถให้น้ำได้ควรให้น้ำทุก 3 - 5 วัน ขึ้นกับสภาพต้นข้าวโพดและสภาพอากาศ แต่ช่วงที่ควรให้น้ำถี่ขึ้นคือช่วงที่ข้าวโพดกำลังงอกและช่วงออกดอก

การเก็บเกี่ยว โดยปกติข้าวโพดหวานจะเก็บเกี่ยวเมื่อมีอายุประมาณ 70-75 วันหลังปลูก แต่ระยะที่เหมาะสมสำหรับการเก็บเกี่ยวที่สุด คือ ระยะ 18-20 วันหลังข้าวโพดออกไหม 50 % ( ข้าวโพด 100 ต้นออกไหม 50 ต้น) ข้าวโพดหวานพันธุ์ ไฮ-บริกซ์ 10 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 68-70 วัน และพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 3 จะเก็บเกี่ยวที่อายุประมาณ 65 - 68 วันหลังปลูก แต่ถ้าปลูกในช่วงอากาศหนาวเย็นอายุการเก็บเกี่ยวอาจจะยืดออกไปอีก หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วควรรีบส่งโรงงานหรือจำหน่ายโดยเร็ว เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ หากขาดน้ำจะมีผลต่อเมล็ดและน้ำหนักของฝัก

ปัญหาการปลูกข้าวโพดหวาน คือ ความงอกปกติเมล็ดพันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และ ไฮ-บริกซ์ 3 ได้ผ่านการทดสอบความงอกมาแล้วจึงจำหน่ายสู่เกษตรกร แต่บางครั้งเมล็ดพันธุ์อาจจะค้างอยู่ในร้านค้าเป็นเวลานานหรือเกษตรกรอาจจะซื้อเมล็ดพันธุ์มาเก็บไว้ที่บ้าน และสถานที่เก็บอาจจะไม่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้มีผลทำให้เมล็ดพันธุ์มีความงอกลดลง วิธีการแก้ไขที่ดีที่สุด คือ ก่อนปลูกทุกครั้งให้ทดสอบความงอกของเมล็ดที่จะปลูกก่อน โดยการสุ่มเมล็ดจากถุงประมาณ 100 เมล็ด แล้วปลูกลงในกระบะทรายหรือดินแล้วรดน้ำเพื่อทดสอบความงอก นับต้นที่โผล่พ้นดินในวันที่ 7 ถ้ามีจำนวนต้นเกิน 85 ต้น ถือว่ามีอัตราความงอกที่ใช้ได้สามารถนำเมล็ดพันธุ์ถุงนั้นไปปลูกได้

โรคราน้ำค้าง ปัจจุบันพันธุ์ข้าวโพดหวานเกือบทุกพันธุ์ที่ขายในประเทศไทยเป็นพันธุ์ที่ไม่ต้านทานโรคราน้ำค้าง ตั้งแต่พันธุ์ไฮ-บริกซ์ 10 และ ไฮ-บริกซ์ 3 จนถึงพันธ์ล่าสุดไฮ-บริกซ์ 9 ซึ่งทุกพันธุ์ได้ผ่านการคลุกยาป้องกันโรคราน้ำค้าง (เมตาแลกซิล) ในอัตรายาที่เหมาะสม เมื่อปลูกแล้วจะไม่พบว่าเป็นโรค แต่การปลูกที่ผิดวิธีก็อาจเป็นสาเหตุให้เป็นโรคราน้ำค้างได้ การปลูกที่ผิดวิธีที่พบเห็นบ่อยๆ มีดังนี้

แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูก เกษตรกรเชื่อว่าการแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้การงอกดีและมีความสม่ำเสมอ แต่การแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกจะทำให้ยาที่คลุกติดมากับเมล็ดพันธุ์ซึ่งเป็นยาป้องกันโรคราน้ำค้างละลายหลุดออกไป ทำให้ยาที่เคลือบเมล็ดมีน้อยลงหรือไม่มีเลย เมื่อนำเมล็ดพันธุ์ที่แช่น้ำไปปลูก ต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงเป็นโรค ราน้ำค้าง วิธีแก้ไข คือ ไม่แช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำก่อนปลูกหรือคลุกสารเคมีอื่นเพิ่มเพราะมีผลต่อความต้านทานโรคราน้ำค้างและความงอกของเมล็ดพันธุ์
ปล่อยน้ำท่วมขังแปลงหลังปลูก เกษตรกรบางรายเมื่อปลูกเสร็จจะปล่อยน้ำท่วมแปลงปลูกหรือปล่อยน้ำท่วมร่องปลูก ซึ่งน้ำจะท่วมขังอยู่เป็นเวลานานกว่าจะซึมลงดินหมด เมล็ดจะแช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน ยาป้องกันโรคราน้ำค้างที่เคลือบเมล็ดอยู่จะละลายหายไปกับน้ำ ทำให้ต้นอ่อนที่งอกขึ้นมาไม่ได้รับยาป้องกันโรคราน้ำค้าง จึงแสดงอาการเป็นโรคให้เห็น วิธีแก้ไขคือ ให้น้ำในแปลงก่อนการปลูกและรอให้ดินมีความชื้นเหมาะกับการงอกของเมล็ดจึงทำการปลูก ยาที่เคลือบเมล็ดจะไม่ละลายหลุดไปกับน้ำ ต้นอ่อนที่งอกออกมาจึงได้รับยาอย่างเต็มที่และไม่เป็นโรคราน้ำค้าง
เพลี้ยไฟ ถ้าข้าวโพดหวานออกดอกในช่วงฝนทิ้งช่วงหรือในหน้าแล้ง มักจะพบว่ามีเพลี้ยไฟ ( แมลงตัวเล็กๆ สีดำ ) เกาะกินน้ำเลี้ยงที่ไหมของฝักข้าวโพดทำให้ไหมฝ่อ การผสมเกสรไม่สมบูรณ์ การติดเมล็ดจะไม่ดีตามไปด้วย ป้องกันได้โดยหมั่นตรวจแปลงในระยะออกดอก ถ้าพบว่ามีเพลี้ยไฟเกาะที่ไหม ให้ใช้ยาเอ็นโดซันแฟน (ชื่อสามัญ) หรือ วีฟอส (ชื่อการค้า) อัตรา 40 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นที่ฝัก

ข้าวโพดไม่หวาน ถ้าพบว่าข้าวโพดหวานฝักสดมีรสชาติไม่หวานแสดงว่าดินในแปลงที่ปลูกข้าวโพดขาดธาตุโปแตสเซี่ยม (K) ธาตุโปแตสเซี่ยมจะช่วยให้การสะสมน้ำตาลในเมล็ดดีขึ้น แก้ไขได้โดยการใส่ปุ๋ยรองพื้นที่มีธาตุโปแตสเซี่ยมร่วมด้วย เช่น ปุ๋ยสูตร 25-7-7 หรือ 16-16-8 หรือ 13-13-21 ขึ้นกับสภาพดิน ถ้าดินขาดโปแตสเซี่ยมมากก็ควรใส่ปุ๋ยสูตรที่มีค่า K สูง