ปฏิทินกิจกรรมของฉัน

วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อ้อย


อ้อย หรือ อ้อยแดง (อังกฤษ:Sugar-cane, ชื่อวิทยาศาสตร์ Saccharum officinarum Linn. GRAMINEAE ) ชื่ออื่นคือ อ้อยขม หรืออ้อยดำ เป็นไม้ล้มลุก สูง 2-5 เมตร ลำต้นสีม่วงแดง มีไขสีขาวปกคลุม ไม่แตกกิ่งก้าน ใบเดี่ยว เรียงสลับ กว้าง 2.5-5 ซม. ยาว 0.5-1 เมตร ดอกช่อ ออกที่ปลายยอด สีขาว ผลเป็นผลแห้ง ขนาดเล็ก

สายพันธุ์
อ้อยมีหลายพันธุ์แตกต่างกันที่ความสูง ความยาวของข้อและสีของลำต้น อ้อยเป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรนิยมปลูกกันมาก อ้อยที่นำมาคั้นน้ำสำหรับดื่ม เป็นอ้อยที่ปลูกบริเวณที่ราบลุ่ม พื้นที่ดินเหนียว ประชาชนเรียกว่า อ้อยเหลือง หรือ อ้อยสิงคโปร์ นิยมปลูกกันมากในบริเวณจังหวัดอ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และนครปฐม เป็นต้น

พ.ศ. 2550 ศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุพรรณบุรี) กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อยขึ้นมาใหม่ คือ พันธุ์สุพรรณบุรี 80 ซึ่งได้จากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพันธุ์แม่ 85-2-352 กับพันธุ์พ่อ K84-200 ใช้ระยะเวลาคัดเลือกและปรับปรุงพันธุ์นานกว่า 11 ปี มีลักษณะเด่น คือ ให้ผลผลิตในอ้อยปลูกน้ำหนักเฉลี่ย 17.79 ตัน/ไร่ ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.66 ตันซีซีเอส/ไร่ นอกจากนี้ยังสามารถต้านทานโรคเหี่ยวเน่าแดงและโรคแส้ดำได้ระดับปานกลางด้วย [1]

สรรพคุณสมุนไพร
ตำรายาไทยใช้ลำต้นเป็นยาขับปัสสาวะ โดยใช้ลำต้นสด 70-90 กรัม หรือแห้ง 30-40 กรัม หั่นเป็นชิ้น ต้มน้ำ แบ่งดื่มวันละ 2 ครั้งก่อนอาหาร แก้ไตพิการ หนองในและขับนิ่ว แพทย์พื้นบ้านใช้ขับเสมหะ รายงานว่าอ้อยแดงมีฤทธิ์ขับปัสสาวะในสัตว์ทดลอง

สถานการณ์ทั่วไป
การผลิตอ้อยในปีการผลิต 2540/2541 คาดว่าจะได้ผลผลิตรวมทั้งประเทศ ประมาณ 44.56 ล้านตัน ลดลงจากปีการผลิต 2539/2540 ที่ผลิตได้ 56.19 ล้านตัน หรือลดลงร้อยละ 20.70 ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพื้นที่ปลูกอ้อยลดลงเนื่องจากประสบภัยแล้งเป็นเวลานาน ตลอดจนปัญหาโรคและแมลงศัตรูอ้อยระบาดรุนแรงในบางพื้นที่ โดยเฉพาะหนอนกออ้อย ถึงแม้ว่าราคารับซื้ออ้อย ณ หน้าโรงงานจะเพิ่มขึ้นจากตันละ 547 บาท ในปี 2539/40 เป็นตันละ 600 บาท ในปีการผลิต 2540/2541 (ราคาอ้อยขั้นต้น) แต่เกษตรกรก็ไม่สามารถเพิ่มผลผลิตอ้อยส่งโรงงานได้
การผลิตน้ำตาลทรายก็มีแนวโน้มลดลงตามไปด้วย โดยในปี 2539/2540 ประเทศไทยผลิตน้ำตาลได้ถึง 5.79 ล้านตัน และคาดว่าปี 2540/2541 ผลิตได้ 4.19 ล้านตัน หรือ ลดลงร้อยละ 27.63 ทั้งนี้นอกจากปริมาณอ้อยที่น้อยลงแล้ว ยังเนื่องจากคุณภาพของอ้อย ต่ำลง และมีสิ่งเจือปนมาก ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยต่ำลง และโรงงานต้องสูญเสียพลังงานมากขึ้นในการผลิตน้ำตาลที่ได้จากอ้อยไฟไหม้ ในปัจจุบันจึงเน้นการรณรงค์ให้เกษตรกรลดการเผาใบอ้อยก่อนการเก็บเกี่ยว



แหล่งผลิต
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย อุดรธานี มุกดาหาร หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ

ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และแพร่

ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี และอ่างทอง ภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดราชบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์

ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง และ สระแก้ว

ภาคที่ปลูกอ้อยมากที่สุด คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


ฤดูปลูก
ช่วงปลูกอ้อยที่เหมาะสมจะแบ่งตามเขตพื้นที่ที่ใช้ปลูกอ้อย ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 เขตคือ
1. เขตชลประทาน จะปลูกในช่วงระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม
2. เขตน้ำฝน สามารถปลูกได้ 2 ช่วง คือ
ต้นฤดูฝน ตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน นิยมปลูกในพื้นที่ทั่วไป
ปลายฤดูฝน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-ธันวาคม นิยมปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคเหนือบางพื้นที่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น